ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

รำวงมาตรฐาน


 รำวงมาตรฐาน ในปัจจุบันนี้เป็นศิลปะแห่งการรำวงที่งดงาม ซึ่งในสมัยก่อนยังมิได้มีคำว่า "มาตรฐาน" จะเรียกกันเพียงว่า "รำวง" เท่านั้น การรำวงนี้เป็นการละเล่นพื้นบ้านอย่างหนึ่งที่บ่อบอกถึงความสนุกสนาน การเล่นรำวงนั้นสืบเนื่องมาจากการเล่นรำโทน นั้นเพราะในสมัยก่อนเครื่องดนตรีหลักที่ใช้ประกอบจังหวะก็คือ โทน ฉิ่ง และกรับ โดยจังหวะการฟ้อนรำจะมีเสียงโทนเป็นเสียงหลักตีตามจังหวะหน้าทับ จึงเรียกกันว่า "รำโทน" ในด้านของบทร้องจะเป็นบทร้องที่มีภาษาเรียบง่าย ไม่พิถีพิถันในเรื่องถ้อยคำและสัมผัสวรรคตอนแต่อย่างใด ตามลักษณะของเพลงพื้นบ้าน เนื้อหาของเพลงจะออกมาในลักษณะกระเซ้าเย้าแหย่ การเกี้ยวพาราสีหยอกล้อของหนุ่มสาว การเชิญชวน ตลอดจนการชมโฉมความงามของหญิงสาว เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อความสนุกสนานในการเล่น ในเรื่องของเครื่องแต่งกายในสมัยก่อนก็ไม่เน้นถึงความพิถีพิถันมากนัก เน้นเพียงความสะดวกสบายของชาวบ้านเอง ไม่ได้ประณีตแต่อย่างใด

          เมื่อประมาณ พ.ศ. 2488 ชาวบ้านนิยมเล่นรำโทนกันอย่างแพร่หลาย ด้วยเหตุความนิยม
เป็นอย่างมากนี้เองจึงได้มีผู้คิดแต่งบทร้องและทำนองขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก แต่ทั้งนี้ก็ยังคงจังหวะหน้าทับของโทนไว้เช่นเดิม ส่วนเนื้อร้องใดที่นิยมก็จะร้องกันอยู่ได้นาน เพลงใดเนื้อร้องไม่เป็นที่นิยมก็จะไม่นำมาร้องเท่าใดนักและก็จะเป็นที่ลืมเลือนไปในที่สุด จากนั้นก็จะมีเนื้อเพลงใหม่ ๆ ขึ้นมาแทนที่

          ในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2484 - 2488 เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นที่ตำบลบางปู จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2484 เพื่อเจรจาขอตั้งกองทัพในประเทศไทย โดยใช้เส้นทางต่าง ๆ ในแผ่นดินไทยลำเรียงเสบียงอาหาร อาวุธและกำลังพล เพื่อใช้ในการต่อสู้กับประเทศสัมพันธมิตร ซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยมี จอม พล ป. (แปลก) พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ตัดสินใจยอมให้ประเทศญี่ปุ่นเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย เพราะเกรงว่าหากปฏิเสธคงจะถูกปราบปรามแน่ ด้วยเหตุนี้เองประเทศไทยจึงได้รับผลกระทบจากการรุกรานของฝ่ายสัมพันธมิตร ที่ส่งกองทัพเข้ามาโจมตีฐานทัพญี่ปุ่นทางอากาศโดยเฉพาะในยามที่เป็นคืนเดือนหงาย จะมองเห็นจุดยุทธศาสตร์ได้ง่าย ข้าศึกมักจะเข้ามาโจมตีอย่างหนักด้วยการทิ้งระเบิด ซึ่งสร้างความเสียหายทำลายชีวิตและทรัพย์สินบ้านเรือนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะบ้านเรือนที่อยู่ใกล้กับฐานทัพญี่ปุ่น

           เมื่อช่วงคืนเดือนหงายผ่านไป คืนเดือนมืดเข้ามา ข้าศึกจะมองเห็นจุดยุทธศาสตร์ไม่ชัดเจนจึงพักการรุกราน ประชาชนชาวไทย ได้รับความเดือนร้อน ต่างอยู่ในสถานการณ์ที่หวาดกลัวเป็นอย่างมาก จึงได้หาวิธีการผ่อนคลายความตึงเคลียด ความหวาดผวา ด้วยการนำศิลปะพื้นบ้านที่ซบเซาไป กลับมาร้องรำทำเพลง นั้นก็คือ "การเล่นรำโทน" คำร้อง ทำนองและการแต่งกาย ก็ยังคงเรียบง่ายเน้นความสะดวกสบาย สนุกสนาน เช่นเดิม เพลงที่นิยมได้แก่ เพลงใกล้เข้าไปอีกนิด ช่อมาลี ตามองตา ยวนยาเหล เป็นต้น

ต่อมารัฐบาลได้เล็งเห็นศิลปะพื้นบ้านอันสวยงามของไทยที่มีอยู่อย่างแพร่หลายควรที่จะเชิดชูให้มีระเบียบแบบแผนตามแบบนาฏศิลป์ไทย เพราะหากชาวต่างชาติมาพบเห็นจะตำหนิได้ว่าศิลปะการฟ้อนรำของไทยนี้มิได้มีความสวยงาม ประณีตแต่อย่างใด รวมถึงไม่มีศิลปะที่แสดงออกว่าเป็นชาติที่มีวัฒนธรรม จึงได้มอบให้ กรมศิลปากรเป็นผู้รับผิดชอบในการปรับปรุงและพัฒนาการรำ (รำโทน) ขึ้นใหม่ให้มีระเบียบ แบบแผน มีความงดงามมากยิ่งขึ้น ทั้งทางด้านเนื้อร้อง ทำนอง ตลอดจนเครื่องแต่งกาย

          เมื่อประมาณ พ.ศ. 2487 กรมศิลปากรได้แต่งบทร้องขึ้นมาใหม่ 4 บทคือ " เพลง งามแสงเดือน" "เพลงชาวไทย" "เพลงรำซิมารำ" "เพลงคืนเดือนหงาย" ต่อมาท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม ได้แต่งบทร้องขึ้นมาใหม่อีก 6 บท คือ " เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ" "เพลงดอกไม้ของชาติ" "เพลงหญิงไทยใจงาม" "เพลงดวงจันทร์ขวัญฟ้า" "เพลงยอดชายในหาญ" "เพลงบูชานักรบ" ในด้านทำนองนั้นรับผิดชอบโดยกรมศิลปากรและกรมประชาสัมพันธ์ ส่วนท่ารำนั้นนาฏศิลปินอาวุโสของกรมศิลปากร คือ จมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันท์) และนางลมุล ยมะคุปต์ ร่วมกันคิดท่ารำขึ้นประกอบการรำโดยนำท่ารำมาจากการรำ "แม่บท" และต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อเรียกการ "รำโทน" เป็น "รำวง" ตามลักษณะของการเล่น ซึ่งวิธีการเล่นนั้นจะเล่นรวมกันเป็นวง และเคลื่อนย้ายเวียนกันไปเป็นวงทวนเข็มนาฬิกา

          เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ชาวไทยก็ยังคงให้ความนิยมการเล่นรำวง สืบมาจนถึงปัจจุบัน และชาวต่างชาติก็นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในงานเต้นรำต่าง ๆ จนกระทั้งมีนักประพันธ์ผู้หนึ่งเป็นชาวอเมริกัน ที่ชื่อว่า Foubion Bowers ที่ได้มาพบเห็นศิลปะการรำวงของไทย และนำไปกล่าวไว้ในหนังสือ Theatre in the East ซึ่งมีสำเนียงการเรียก "รำวง" เพี้ยนไปบ้างเล็กน้อยเป็น "รำบอง" (Rombong) ( อมรา กล่ำเจริญ , 2531 : 111)

          แต่อย่างไรก็ดี วัตถุประสงค์ของกรมศิลปากร ในการปรับปรุงศิลปะการรำวงทั้งหมด 10 เพลง ก็เพื่อเป็นศิลปะการรำวงที่มีระเรียบแบบแผน ทั้งคำร้อง ทำนอง ท่ารำ ตลอดจนการแต่งกายให้เป็นแบบฉบับมาตรฐาน สะดวกในการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของไทยและสืบสานต่อไป ด้วยเหตุผลนี้ เราจึงเรียก "รำวง" ที่มีศิลปะเป็นแบบฉบับมาตรฐาน ว่า "รำวงมาตรฐาน" สืบมาจนถึงปัจจุบันนี้
ท่ารำ
คุณครูศุภลักษณ์ ภัทรนาวิก,คุณครูมัลลี คงประภัศร์และคุณครูลมุล ยมะคุปต์ได้ร่วมกันประดิษฐ์ท่ารำขึ้นทั้งหมด ๑๔ แม่ท่า เป็นชื่อท่ารำที่อยู่ในรำแม่บท มีทั้งหมด ๑๐ เพลง ได้แก่ เพลงงามแสงเดือน,เพลงชาวไทย,เพลงรำซิมารำ เพลง,คืนเดือนหงาย,เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ ,เพลงดอกไม้ของชาติ, เพลงหญิงไทยใจงาม, เพลงดวงจันทร์ขวัญฟ้า, เพลงยอดชายใจหาญและเพลงบูชานักรบ

คำร้อง
จมื่นมานิตย์นเรศ (เฉลิม เศวตนันท์) หัวหน้ากองการสังคีต กรมศิลปากร ได้ประพันธ์ขึ้น ๔ เพลง คือ เพลงงามแสงเดือน, เพลงชาวไทย,เพลงรำซิมารำและเพลงคืนเดือนหงาย
คุณหญิงละเอียด พิบูลสงคราม ได้ประพันธ์คำร้องไว้ ๖ เพลง คือเพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ,เพลงดอกไม้ของชาติ,เพลงหญิงไทยใจงาม,เพลงดวงจันทร์ขวัญฟ้า,เพลงยอดชายใจหาญและเพลงบูชานักรบ

ทำนอง
อาจารย์มนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทย กรมศิลปากร ได้แต่งทำนองไว้ ๖ เพลง คือ เพลงงามแสงเดือน,เพลงชาวไทย, เพลงรำซิมารำ,เพลงคืนเดือนหงาย,เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ,เพลงดอกไม้ของชาติ
ครูเอื้อ สุนทรสนาน หัวหน้าวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ แต่งทำนองไว้ ๔ เพลง คือ เพลงหญิงไทยใจงาม,เพลงดวงจันทร์ขวัญฟ้า,เพลงยอดชายใจหาญ,และเพลงบูชานักรบ

เครื่องดนตรี
เดิมนั้นรำโทนมีเครื่องดนตรีประกอบ คือ ฉิ่ง กรับ ฉาบ และโทน เมื่อมีการพัฒนาการรำขึ้น จึงได้พัฒนาเครื่องดนตรีที่ใช้โดยใช้วงดนตรีสากลบรรเลงแทน

การแต่งกาย
มิได้กำหนดเฉพาะเจาะจงว่าต้องแต่งชุดไทยอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน แต่สามารถแต่งได้หลากหลายแบบเช่น แต่งชุดไทยจักรี ชุดไทยสมัย ร.๖ ชุดไทยแบบชาวบ้าน คือห่มสไบ นุ่งโจงกระเบน หรือชุดไทยสมัยใดก็ได้ขอให้เป็นแบบไทยที่ดูสุภาพงดงาม ชายก็แต่งได้ทั้งชุดไทยแบบชาวบ้าน คือนุ่งโจงกระเบนใส่เสื้อคอพวงมาลัยแขนสั้นผ้าคาดเอว หรือชุดไทยเสื้อพระราชทานกางเกงขายาว หรือชุดราชปะแตน หรือชุดสากลใส่สูทผูกเนคไทก็ได้


เนื้อเพลง
เพลงงามแสงเดือน (ใช้ท่ารำ ท่าสอดสร้อยมาลา)




งามแสงเดือนมาเยือนส่องหล้า
งามใบหน้าเมื่ออยู่วงรำ (ซ้ำ)
เราเล่นกันเพื่อสนุก
เปลื้องทุกข์ให้วายระกำ
ขอให้เล่นฟ้อนรำ
เพื่อสามัคคีเอย




เพลงชาวไทย (ใช้ท่ารำ ท่าชักแป้งผัดหน้า)



ชาวไทยเราเอย
ขออย่าละเลยในการทำหน้าที่
การที่เราได้เล่นสนุก
เปลื้องทุกข์สบายอย่างนี้
เพราะชาติเราได้เสรี
มีเอกราชสมบูรณ์
เราจึงควรช่วยชูชาติ
ให้เก่งกาจเจิดจำรูญ
เพื่อความสุขเพิ่มพูน
ของชาวไทยเราเอย




เพลงรำซิมารำ (ใช้ท่ารำ ท่ารำส่าย )



รำซิมารำ
เริงระบำกันให้สนุก
ยามงานเราทำงานกันจริง
ไม่ละไม่ทิ้งจะเกิดเข็ญทุกข์
ถึงยามว่างเราจึงรำเล่น
ตามเชิงเช่นเพื่อให้สร่างทุกข์
ตามเยี่ยงอย่างตามยุค
เล่นสนุกอย่างวัฒนธรรม
เล่นอะไรให้มีระเบียบ
ให้งามให้เรียบจึงจะคมขำ
มาซิมาเจ้าเอ๋ยมาฟ้อนรำ
มาเล่นระบำของไทยเราเอย




เพลงคืนเดือนหงาย (ใช้ท่ารำท่าสอดสร้อยมาลาแปลง)



ยามกลางเดือนหงาย
เย็นพระพายโบกพริ้วปลิวมา
เย็นอะไรก็ไม่เย็นจิต
เท่าเย็นผูกมิตรไม่เบื่อระอา
เย็นร่มธงไทยโบกไปทั่วหล้า
เย็นยิ่งน้ำฟ้ามาประพรมเอย




เพลงดวงจันทร์วันเพ็ญ
(ใช้ท่ารำ ท่าแขกเต้าเข้ารัง และท่าผาลาเพียงไหล่ )




ดวงจันทร์วันเพ็ญ
ลอยเด่นอยู่ในนภา
ทรงกลดสดสี
รัศมีทอแสงงามตา
แสงจันทร์อร่าม
ฉายงามส่องฟ้า
ไม่งามเท่าหน้า
นวลน้องยองใย
งามเอยแสนงาม
งามจริงยอดหญิงชาติไทย
งามวงพักตร์ยิ่งดวงจันทรา
จริตกิริยานิ่มนวลละไม
วาจากังวาน
อ่อนหวานจับใจ
รูปทรงสมส่วน
ยั่วยวนหทัย
สมเป็นดอกไม้
ขวัญใจชาติเอย




เพลง ดอกไม้ของชาติ (ใช้ท่ารำ ท่ารำยั่ว)




(สร้อย) ขวัญใจดอกไม้ของชาติ
งามวิลาศนวยนาดร่ายรำ(ซ้ำ)
เอวองค์อ่อนงาม
ตามแบบนาฎศิลป์
ชี้ชาติไทยเนาว์ถิ่น
เจริญวัฒนธรรม
(สร้อย)
งามทุกสิ่งสามารถ
สร้างชาติช่วยชาย
ดำเนินตามนโยบาย
สู้ทนเหนื่อยยากตรากตรำ
(สร้อย)




เพลงหญิงไทยใจงาม
(ใช้ท่ารำท่าพรหมสี่หน้า และท่ายูงฟ้อนหาง)




เดือนพราว
ดาวแวววาวระยับ
แสงดาวประดับ
ส่องให้เดือนงามเด่น
ดวงหน้า
โสภาเพียงเดือนเพ็ญ
คุณความดีที่เห็น
เสริมให้เด่นเลิศงาม
ขวัญใจ
หญิงไทยส่องศรีชาติ
รูปงามพิลาศ
ใจกล้ากาจเรืองนาม
เกียรติยศ
ก้องปรากฎทั่วคาม
หญิงไทยใจงาม
ยิ่งเดือนดาวพราวแพรว




เพลงดวงจันทร์ขวัญฟ้า
(ใช้ท่ารำ ท่าช้างประสานงา และท่าจันทร์ทรงกลด )




ดวงจันทร์ขวัญฟ้า
ชื่นชีวาขวัญพี่
จันทร์ประจำราตรี
แต่ขวัญพี่ประจำใจ
ที่เทิดทูนคือชาติ
เอกราชอธิปไตย
ถนอมแนบสนิทใน
คือขวัญใจพี่เอย




เพลงยอดชายใจหาญ
(ใช้ท่ารำชะนีร่ายไม้ และท่าจ่อเพลิงกาฬ)





โอ้ยอดชายใจหาญ
ขอสมานไมตรี
น้องมาร่วมชีวี
กอบกรณีกิจชาติ
แม้สุดยากลำเค็ญ
ไม่ขอเว้นเดินตาม
น้องจักสู้พยายาม
ทำเต็มความสามารถ




เพลงบูชานักรบ
( เที่ยวแรก ฝ่ายหญิงใช้ท่ารำขัดจางนาง ฝ่ายชายใช้ท่ารำจันทร์ทรงกลด
เที่ยวที่สอง ฝ่ายหญิงใช้ท่ารำท่าล่อแก้ว ฝ่ายชายใช้ท่ารำท่าขอแก้ว )




น้องรักรักบูชาพี่
ที่มั่นคงที่มั่นคงกล้าหาญ
เป็นนักสู้เชี่ยวชาญ
สมศักดิ์ชาตินักรบ
น้องรักรักบูชาพี่
ที่มานะที่มานะอดทน
หนักแสนหนักพี่ผจญ
เกียรติพี่ขจรจบ
น้องรักรักบูชาพี่
ที่ขยันที่ขยันกิจการ
บากบั่นสร้างหลักฐาน
ทำทุกด้านทำทุกด้านครันครบ
น้องรักบูชาพี่
ที่รักชาติที่รักชาติยิ่งชีวิต
เลือดเนื้อที่พลีอุทิศ
ชาติคงอยู่คงอยู่คู่พิภพ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น