ค้นหาบล็อกนี้

วันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ตัวอย่างโครงงาน แบบที่ 1


ตัวอย่างโครงงานภาษาไทย
                          เรื่อง สำนวนภาษา คำพังเพยในท้องถิ่น
 
ที่มาและความสำคัญของโครงงาน
          ภาษาไทยในแต่ละท้องถิ่น มีภาษาซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง อาจจะแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม ประเพณี อิทธิพล จากประเทศเพื่อนบ้าน ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศและความเป็นอยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ ดังนั้น สำนวนภาษา และคำพังเพยที่ใช้จึงมีภาษาพูดที่แตกต่างกันออกไป แต่ความหมายยังคล้ายคลึงกัน เช่นเดียวกับสำนวนภาษา และคำพังเพยที่แตกต่างกันออกไป
          จึงได้ทำโครงงานการศึกษา สำนวนภาษาและคำพังเพยในท้องถิ่นของจังหวัดตรังขึ้น
 
วัตถุประสงค์
          1. เพื่อรวบรวมสำนวนภาษา และคำพังเพยที่มีในท้องถิ่น
          2. เพื่อหาความหมายของสำนวนภาษาและคำพังเพย
          3. เพื่อเผยแพร่ให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไปนำไปใช้ให้ถูกต้อง
 
สมมุติฐานของการศึกษาค้นคว้า
          สำนวนภาษา และคำพังเพยแต่ละท้องถิ่นแตกต่างกัน
 
ขอบเขตของการศึกษาค้นคว้า
          1. สถานที่สำรวจในพื้นที่จังหวัดตรัง
          2. ระยะเวลาศึกษาตั้งแต่ 26 กุมภาพันธ์ - 15 มีนาคม 2543
 
อุปกรณ์และวัสดุที่ใช้ในการศึกษา
          1. หนังสืออ่านนอกเวลา ป. 5
          2. พจนานุกรม ปทานุกรม
          3. เครื่องเขียน
 
วิธีการศึกษา
          1. สอบถาม สัมภาษณ์ จากครู ผู้ปกครอง และบุคคลแหล่งชุมชนในท้องถิ่น
          2. ศึกษาค้นคว้าจากห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดประชาชน
          3. สังเกตจากการเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชน
          4. สร้างเครื่องมือ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์
          5. รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล บันทึกผล
 
วิธีบันทึก
          1. บันทึกภาพ
          2. จดบันทึก
          3. แบบสอบถาม
 
สรุปผลการศึกษา
          ในการศึกษาสำนวนภาษา และคำพังเพยที่ใช้ในท้องถิ่น จังหวัดตรัง ได้ข้อมูลทั้งสิ้น 23 สำนวน ดังนี้
          1. หูทวนลม                หมายความว่า     พูดไม่ฟัง
          2. หยาบเหมือนขี้ช้าง   หมายความว่า    ไม่เรียบร้อย
          3. ขี้คร้านหลังยาว        หมายความว่า     เป็นคนขี้เกียจ
          4. สีซอให้ควายฟัง       หมายความว่า     ฟังแต่ไม่รับรู้
          5. สู้หลังชนฝา             หมายความว่า     สู้ไม่ถอย
          6. กินข้าวสองมือ         หมายความว่า     เป็นคนสุขสบาย
          7. ลิงหลอกเจ้า            หมายความว่า     ต่อหน้าทำดีลับหลังนินทา
          8. ต้มสิบน้ำไม่เปื่อย     หมายความว่า    เป็นคนเฉื่อยชา ไปเรื่อย ๆ
          9. เณรเกตุ                  หมายความว่า    เที่ยวไม่รู้หัวนอนปลายเท้า
         10. แมวงอกเขาเต่างอกขา      หมายความว่า     เรื่องที่เป็นไปไม่ได้
         11. จับปูใส่ด้ง                         หมายความว่า     อยู่ไม่นิ่ง
         12. จับน้ำใส่โหลก โงกแลเงา   หมายความว่า     ให้เจียมตัว
         13. ใหญ่พร้าว เฒ่าลอกอ         หมายความว่า     โตแต่ตัว
         14. อยู่จนพร้าวเรียว                หมายความว่า      แต่งงานอยู่กินกันมานาน
         15. ไม่เข้าเค้า                        หมายความว่า      ไม่ได้เรื่อง
         16. ไม่สาเกลือ                        หมายความว่า      ไม่น่านับถือ
         17. ไม่สาไหร                          หมายความว่า      ไม่ได้เรื่อง
         18. ดำเหมือนกล้วยหมกลืม      หมายความว่า      เปรียบเทียบคนผิวดำ
         19. ดำเหมือนตอเคี่ยม             หมายความว่า      เปรียบเทียบคนผิวดำ
         20. นอนหวันแยงวาน                หมายความว่า      นอนตื่นสาย
         21. นอนหวันแยงตา                  หมายความว่า      นอนกลางวันจนค่ำ 
แล้วยังไม่ตื่น
         22. ทำงานหลาวหลาว               หมายความว่า      ทำงานขาดความรอบคอบ
         23. รวยหยังหยัง                       หมายความว่า       ร่ำรวยมาก
 
อภิปรายผลการศึกษา
          สำนวนภาษา คำพังเพย ที่ไปสำรวจได้ ถ้าพูดด้วยภาษถิ่นทางใต้ด้วยแล้ว บางครั้งคนฟังที่เป็นคนต่างถิ่น จะไม่รู้เรื่องเลยแม้แต่น้อย แต่ถ้าใช้ภาษากลางพูด บางสำนวนฟังแล้วรู้เรื่อง เช่น สำนวนว่า "นอนหวันแยงวาน" หวัน หมายถึง ตะวัน แสงอาทิตย์ แยง หมายถึง ทิ่ม แทง วาน หมายถึง ทวาร ซึ่งคนมทางใต้นิยมพูดสั้น ๆ เอาพยางค์สุดท้ายของคำมาพูด อย่างไรก็ตาม ภาษาถิ่นแต่ละแห่งย่อมแตกต่างกันไป ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก
 
สรุปผลการศึกษา
          1. ได้สำนวนภาษา คำพังเพย จำนวน 23 สำนวน
          2. ได้ทราบความหมายของสำนวนทั้ง 23 สำนวน
 
ประโยชน์ที่ได้รับ
          1. ได้ทราบภาษาถิ่นที่เป็นสำนวนภาษา และคำพังเพย
          2. ได้ทราบความแตกต่างของภาษาถิ่นและภาษากลาง บางคำมาจากรากศัพท์เดียวกัน
          3. ภูมิใจในวัฒนธรรมของท้องถิ่น ภาษาของชาวบ้านที่สรรหาคำมาเปรียบเปรย
 
ข้อเสนอแนะ
          1. ทำโครงงานเรื่องนี้ต่อ โดยเก็บรวบรวมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
          2. จัดรวบรวม จำแนก จัดหมวดหมู่ให้เป็นระบบ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น