กรอ เป็นวิธีบรรเลงเครื่องดนตรีประเภทตี (เช่น ระนาด ฆ้องวง) อย่างหนึ่ง ซึ่งใช้วิธีตี ๒ มือ สลับกันถี่ ๆ เหมือนรัวเสียงเดียว (ดูคำว่า รัว) หากแต่วิธีที่เรียกว่า "กรอ" นี้ มือทั้งสอง มิได้ตีอยู่ที่ลูกเดียวกัน
ทางกรอ เป็นคำเรียกทางของการดำเนินทำนองเพลงอย่างหนึ่งที่ดำเนินไปโดยใช้เสียงยาว ๆ ช้า ๆ เพลงที่ดำเนินทำนองอย่างนี้ เรียกว่า "ทางกรอ" ที่เรียกอย่างนี้ก็ด้วยเหตุที่เพลงที่มีเสียง ยาว ๆ นั้น เครื่องดนตรีประเภทตีไม่สามารถจะทำเสียงให้ยาวได้ จึงต้องตีกรอ (ดูคำว่า กรอ) ให้ได้ความยาวเท่ากับความประสงค์ของทำนองเพลง เพลงทางกรอนี้ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เป็นต้นคิดขึ้น เป็นทางเพลงที่นิยมมาก
กวาด คือ วิธีปฏิบัติอย่างหนึ่งของเครื่องดนตรีประเภทตี (เช่น ระนาด ฆ้องวง) โดยใช้ไม้ตี ลากไปบนเครื่องดนตรี (ลูกระนาดหรือลูกฆ้อง) ซึ่งมีกิริยาอย่างเดียวกับใช้ไม้กวาด กวาดผง การกวาดนี้จะกวาดจากเสียงสูงมาหาเสียงต่ำหรือจากเสียงต่ำไปหาเสียงสูงก็ได้
เก็บ ได้แก่ การบรรเลงที่เพิ่มเติมเสียงสอดแทรกแซงให้มีพยางค์ถี่ขึ้นกว่าเนื้อเพลงธรรมดา ถ้าจะเขียนเป็นโน้ตสากลในจังหวะ ๒/๔ ก็จะเป็นจังหวะละ ๔ ตัว ห้องละ ๘ ตัว (เขบ็ต ๒ ชั้นทั้ง ๘ ตัว) อธิบาย : การบรรเลงที่เรียกว่า เก็บ นี้ เป็นวิธีการบรรเลงของระนาดเอก และ ฆ้องวงเล็ก ส่วนเครื่องดนตรีอื่น ๆ ใช้เป็นตอน ๆ ตัวอย่างโน้ต "เก็บ" รวมบันทึก เปรียบเทียบไว้กับ "สะบัด" (ดูคำว่าสะบัด)
ขยี้ เป็นการบรรเลงที่เพิ่มเติมเสียงแทรกแซงให้มีพยางค์ถี่ขึ้น ไปจาก "เก็บ" อีก ๑ เท่า ถ้า จะเขียนเป็นโน้ตสากลในจังหวะ ๒/๔ ก็จะเป็นจังหวะละ ๘ ตัว ห้องละ ๑๖ ตัว (เขบ็ต ๓ ชั้นทั้ง ๑๖ ตัว) อธิบาย : การบรรเลงที่เรียกว่าขยี้นี้ จะบรรเลงตลอดทั้งประโยคของเพลง หรือ จะบรรเลงสั้นยาวเพียงใดแล้วแต่ผู้บรรเลงจะเห็นสมควร วิธีบรรเลงอย่างนี้บางท่านก็ เรียกว่า "เก็บ ๖ ชั้น" ซึ่งถ้าจะพิจารณาถึงหลักการกำหนดอัตรา (๒ ชั้น ๓ ชั้น) แล้ว คำว่า ๖ ชั้นดูจะไม่ถูกต้อง ตัวอย่างโน้ต "ขยี้" รวมบันทึกเปรียบเทียบไว้กับ "สะบัด" (ดูคำว่า สะบัด)
ขับ คือ การเปล่งเสียงออกไปอย่างเดียวกับร้อง (ดูคำว่า ร้อง) แต่การขับมักใช้ในทำนอง ที่มีความยาวไม่แน่นอน การเดินทำนองเป็นเพียงแนวทางเท่านั้น และถือถ้อยคำเป็น สำคัญ ทำนองต้องน้อมเข้าหาถ้อยคำ เช่น ขับเสภา เป็นต้น การขับกับร้องมีวิธีการที่ คล้ายคลึง และมักจะระคนปนกันอยู่ จึงมักจะเรียกรวม ๆ กันว่า "ขับร้อง"
ครวญ เป็นวิธีร้องอย่างหนึ่งซึ่งสอดแทรกเสียงเอื้อนยาว ๆ ให้มีสำเนียงครวญคร่ำรำพัน และ เสียงเอื้อนที่สอดแทรกนี้มักจะขยายให้ทำนองเพลงยาวออกไปจากปรกติ อธิบาย: เพลงที่จะแทรกทำนองครวญเข้ามานี้ ใช้เฉพาะแต่เพลงที่แสดงอารมณ์ โศกเศร้า เช่น เพลงโอ้ปี่ และเพลงร่าย (ในบทโศก) เป็นต้น และบทร้องทำนองครวญ ก็จะต้องเป็นคำกลอนสุดท้ายของบทนั้น ซึ่งเมื่อร้องจบคำนี้แล้วปี่พาทย์ก็จะบรรเลง เพลงโอดประกอบกิริยาร้องไห้ติดต่อกันไป
คร่อม คือ การบรรเลงทำนองหรือบรรเลงเครื่องประกอบจังหวะ หรือร้องดำเนินไปโดยไม่ ตรงกับจังหวะที่ถูกต้อง เสียงที่ควรจะตกลงตรงจังหวะกลายเป็นตกลงในระหว่าง จังหวะซึ่งกระทำไปโดยไม่มีเจตนา และถือว่าเป็นการกระทำที่ผิด เรียกอย่างเต็มว่า "คร่อมจังหวะ"
ครั่น เป็นวิธีที่ทำให้เสียงสะดุดสะเทือน เพื่อความไพเราะเหมาะสมกับทำนองเพลงบางตอน อธิบาย : การทำเสียงให้สะดุดและสะเทือนที่เรียกว่าครั่นนี้ ใช้เฉพาะกับการขับร้อง หรือเครื่องดนตรีประเภทเป่า เช่น ปี่ ขลุ่ย และเครื่องดนตรีประเภทสี เช่น ซอต่าง ๆ เท่านั้น การขับร้องคั่นด้วยคอ เครื่องดนตรีประเภทเป่า ครั่นด้วยลมจากลำคอและเครื่อง ดนตรีประเภทสีครั่นด้วยคันสี (หรือคันชัก)
คลอ เป็นการบรรเลงดนตรีไปพร้อม ๆ กับการร้องเพลง โดยดำเนินทำนองเป็นอย่างเดียวกัน คือ บรรเลงไปตามทางร้อง เช่น ซอสามสายสีคลอไปกับเสียงร้อง เป็นต้น เปรียบเทียบ ก็เหมือนคน ๒ คนเดินคลอกันไป เคล้า เป็นการบรรเลงดนตรีไปพร้อม ๆ กับการร้องเพลง (เช่นเดียวกับคลอ ดูคำว่า คลอ) โดย เพลงเดียวกัน แต่ต่างก็ดำเนินทำนองไปตามทางของตน คือร้องก็ดำเนินไปตามทางร้อง ดนตรีก็ดำเนินไปตามทางดนตรี ยึดถือแต่เนื้อเพลง จังหวะ และเสียงที่ตกจังหวะ (หน้าทับ) เท่านั้น เช่น การร้องเพลงทะแย ๒ ชั้น ในตับพรหมาสตร์ที่มีบทว่า "ช้างเอย ช้างนิมิต เหมือนไม่ผิดช้างมัฆวาน ฯลฯ" ซึ่งคนร้องดำเนินทำนองไปอย่างหนึ่ง ดนตรี ก็ดำเนินทำนองไปอีกอย่างหนึ่ง แต่ก็เป็นเพลงทะแยที่ ร้องและบรรเลงไปพร้อม ๆ กัน เทียบได้กับการคลุกเคล้าปรุงรสอาหารให้รสเปรี้ยวเค็มเข้าผสมผสานกันให้โอชารส วิธีการเช่นนี้บางท่านเรียกว่า "คลอ"
จน หมายถึงการที่นักดนตรีบรรเลงเพลงอันถูกต้องที่เขาประสงค์ไม่ได้ อธิบาย : เพลงที่นักดนตรีจำจะต้องบรรเลงให้ถูกต้องตามความประสงค์นั้น หลายอย่าง เป็นต้นว่านักร้องเขาส่งเพลงอะไรนักดนตรีก็ต้องบรรเลงรับด้วย เพลงนั้น หรือเมื่อคนพากย์เจรจา หรือคนบอกบทเขาบอกให้บรรเลงเพลงหน้าพาทย์ อะไร นักดนตรีก็ต้องบรรเลงเพลงนั้น ถ้าหากนักดนตรีบรรเลงเพลงให้ตรงกับที่นักร้อง เขาร้องไม่ได้ หรือบรรเลงเพลงหน้าพาทย์ตามที่คนพากย์เจรจา หรือคนบอกบทเขาบอกไม่ได้ จะเป็นนิ่งเงียบอยู่หรือบรรเลงไปโดยกล้อมแกล้มหรือบรรเลงไปเป็นเพลง อื่นก็ตาม ถือว่า "จน" ทั้งสิ้น
เดี่ยว เป็นวิธีบรรเลงอย่างหนึ่งที่ใช้เครื่องดนตรีจำพวกดำเนินทำนองเช่น ระนาด ฆ้องวง จะเข้ ซอ บรรเลงแต่อย่างเดียว การบรรเลงเครื่องดำเนินทำนองเพียงคนเดียวที่ เรียกว่า "เดี่ยว" นี้ อาจมีเครื่องประกอบจังหวะ เช่น ฉิ่ง ฉาบ โหม่ง โทน รำมะนา สองหน้า หรือกลองแขก บรรเลงไปด้วยก็ได้ การบรรเลงเดี่ยวอาจบรรเลงตลอดทั้งเพลงหรือแทรกอยู่ในเพลงใดเพลงหนึ่งเป็นบางตอนก็ได้ การบรรเลงเดี่ยวมีความประสงค์อยู่ ๓ ประการ คือ
๑. เพื่ออวดทาง คือ วิธีดำเนินทำนองของเครื่องดนตรีชนิดนั้น
๒. เพื่ออวดความแม่นยำ
๓. เพื่ออวดฝีมือ
เพราะฉะนั้น การบรรเลงที่จะเรียกได้ว่าเดี่ยว จึงมิใช่จะหมายความแคบ ๆ เพียงบรรเลงคนเดียวเท่านั้น ที่จะเรียกว่าเดี่ยวได้โดยแท้จริงนั้น ทาง (การดำเนินทำนอง) ก็ควรจะให้เหมาะสมกับที่จะบรรเลงเดี่ยว เช่น มีโอดพันหรือวิธีการโลดโผนพลิกแพลง ต่าง ๆ ตามสมควรแก่เครื่องดนตรีชนิดนั้นด้วย เพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ทั้ง ๓ ประการที่กล่าวมา
ตับ หมายถึง เพลงหลาย ๆ เพลง นำมาร้องและบรรเลงติดต่อกันไป
ซึ่งแยกออกได้เป็น ๒ ชนิด คือ
๑. ตับเรื่อง เพลงที่นำมารวมร้องและบรรเลงติดต่อกันนั้น มีบทร้องเป็นเรื่อง เดียวกัน และดำเนินไปโดยลำดับ ฟังได้ติดต่อกันเป็นเรื่องราว ส่วนทำนองเพลงจะเป็น คนละอัตรา คนละประเภท หรือลักลั่นกันอย่างไร ไม่ถือเป็นสำคัญ เช่น ตับนางลอย ตับนาคบาศ เป็นต้น
๒. ตับเพลง เพลงที่นำมารวมร้องและบรรเลงติดต่อกันนั้น เป็นทำนองเพลง ที่อยู่ในอัตราเดียวกัน (๒ ชั้น หรือ ๓ ชั้น) มีสำนวนทำนองสอดคล้องติดต่อกัน สนิทสนม ส่วนบทร้องจะมีเนื้อเรื่องอย่างไร เรื่องเดียวกันหรือไม่ถือเป็นสำคัญ เช่น ตับลมพัดชายเขา ตับเพลงยาว เป็นต้น ตับเพลงนี้บางทีก็เรียกว่า"เรื่อง" เฉพาะจำพวก เรื่องมโหรี (ดูคำว่า เรื่อง)
ตัว เป็นคำที่ใช้เรียกแทนคำว่าท่อนของเพลงบางประเภท (ดูคำว่า ท่อน) เพลงที่เรียก "ตัว" แทนคำว่า "ท่อน" ก็ได้แก่เพลงจำพวกตระและเชิดต่าง ๆ นอกจากเชิดนอก
ท่อน คือ กำหนดส่วนใหญ่ส่วนหนึ่ง ๆ ซึ่งแบ่งออกจากเพลง อธิบาย : โดยปรกติเมื่อบรรเลงเพลงใดก็ตาม หากจบท่อนหนึ่ง ๆ แล้วมักจะ กลับต้นบรรเลงซ้ำท่อนนั้นอีกครั้งหนึ่ง ที่กล่าวนี้มิใช่ว่าเพลงทุกเพลงจะต้องมีหลาย ๆ ท่อนเสมอไป บางเพลงอาจมีท่อนเดียวจบ หรือหลาย ๆ ท่อนจึงจบก็ได้
ทาง คำนี้มีความหมายแยกได้เป็น ๓ ประการ คือ
๑. หมายถึง วิธีดำเนินทำนองโดยเฉพาะของเครื่องดนตรีแต่ละอย่าง เช่น ทาง ระนาดเอก ทางระนาดทุ้ม และทางซอ ซึ่งแต่ละอย่างต่างก็มีวิธีดำเนินทำนองของตน แตกต่างกัน
๒. หมายถึง วิธีดำเนินทำนองของเพลงที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยเฉพาะ เช่น ทางของ ครู ก. ครู ข. หรือทางเดี่ยว และทางหมู่ ซึ่งแม้จะบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีก็ดำเนิน ทำนองไม่เหมือนกัน
๓. หมายถึง ระดับเสียงของเพลงที่บรรเลง (Key) ซึ่งกำหนดชื่อเรียกเป็นที่ หมายรู้กันทุก ๆ เสียง ดังจะจำแนกเรียงลำดับขึ้นไปทีละเสียงต่อไปนี้ - ทางเพียงออล่างหรือทางในลด ระดับเสียงต่ำสุด อนุโลมเท่ากับเสียง "ฟา" ของดนตรีสากล - ทางใน ระดับสูงขึ้นมา อนุโลมเท่ากับเสียง "ซอล" ใช้ปี่ในเป็นหลัก - ทางกลาง ระดับเสียงสูงขึ้นมาอีก อนุโลมเท่ากับเสียง "ลา" ใช้ปี่กลาง เป็นหลัก - ทางเพียงออบนหรือทางนอกต่ำ ระดับเสียงสูงกว่าทางกลาง อนุโลมเท่ากับเสียง "ซี" ใช้ ปี่นอกต่ำ หรือขลุ่ยเพียงออเป็นหลัก - ทางกรวด หรือทางนอก ระดับเสียงสูง อนุโลมเท่ากับเสียง "โด" ใช้ปี่นอกหรือ ขลุ่ยกรวดเป็นหลัก - ทางกลางแหบ ระดับเสียงอนุโลมเท่ากับเสียง "เร" - ทางชวา ระดับเสียงเท่ากับเสียง "มี" ใช้ปี่ชวาเป็นหลัก
เท่า บางทีก็เรียกว่า "ลูกเท่า" เป็นทำนองเพลงพิเศษตอนหนึ่ง ซึ่งไม่มีความหมายในตัวอย่าง ใด หากแต่มีความประสงค์อยู่อย่างเดียวเพียงให้ทำนองนั้นยืนอยู่ ณ เสียงใดเสียงหนึ่งแต่ เพียงเสียงเดียว เท่า หรือ ลูกเท่า นี้จะต้องอยู่ในกำหนดบังคับของจังหวะหน้าทับ โดยมี ความยาวเพียงครึ่งจังหวะหน้าทับเท่านั้น (นอกจากในเพลงเรื่องบางเพลง เท่าอาจยาว เป็นพิเศษถึงเต็มจังหวะก็ได้) และโดยปรกติมีแทรกอยู่ในเพลงประเภทหน้าทับปรบไก่ ประโยชน์ของ "เท่า" นี้ มีไว้เพื่อใช้แทรกในระหว่างประโยควรรคตอนของ ทำนองเพลง เพื่อเชื่อมให้ประโยคหรือวรรคตอนของเพลงติดต่อกันสนิทสนมหรือเพิ่ม ให้ครบถ้วนจังหวะหน้าทับ เทียบได้กับคำสันธานที่ใช้ในทางอักษรศาสตร์
รัว คำนี้มีความหมาย ๒ ประการ คือ
๑. หมายถึงชื่อเพลงไทยเพลงหนึ่ง ซึ่งทำนองเพลงบางตอนยืนอยู่เสียงเดียวนาน ๆ แต่ ซอยลงเป็นหลาย ๆ พยางค์ และเร่งให้ค่อย ๆ ถี่ขึ้นไปโดยไม่จำกัด เพราะในตอนที่ ยืนเสียงอยู่ ณ เสียงใดเสียงหนึ่งนี้ไม่มีจังหวะควบคุม เพลงรัวมีทั้งลาเดียวและ ๓ ลา มักใช้เป็นหน้าพาทย์ประกอบการแสดงอภินิหารต่างๆ กับใช้เป็นเพลงต่อท้ายเพลงเสมอ เพลงตระ และเพลงบรรเลง ในการไหว้ครูเกือบทุกเพลง
๒. หมายถึงวิธีบรรเลงที่ทำเสียงหลาย ๆ พยางค์ให้สั้นและถี่ที่สุด ถ้าเป็นเครื่องดนตรี ประเภทตี (เช่น ระนาด) ก็ใช้ตีสลับกัน ๒ มือ เครื่องดนตรีประเภทสี (เช่น ซอ) ก็ใช้ คันชักสีสั้น ๆ เร็ว ๆ เครื่องดนตรีประเภทดีด (เช่น จะเข้) ก็ใช้ไม้ดีด ดีดเข้าออกสลับกัน เร็ว ๆ และเครื่องดนตรีประเภทเป่า (เช่น ขลุ่ย) ก็รัวด้วยนิ้วปิดเปิดให้ถี่และเร็วที่สุด รัวในประการที่ ๒ นี้ ถ้าเป็นวิธีบรรเลงของระนาดเอก ยังแยกออกได้เป็น ๒ อย่าง คือ รัวเสียงเดียวอย่างหนึ่ง กับ รัวเป็นทำนองอีกอย่างหนึ่ง
รื้อ เป็นทำนองร้องอย่างหนึ่งที่ใช้ในตอนขึ้นต้นของเพลงร่าย ซึ่งมีเอื้อนและทอดเสียงให้ ภาคภูมิ มักจะใช้เฉพาะในบทที่ขึ้นข้อความสำคัญ ๆ เท่านั้น
เรื่อง คือเพลงหลาย ๆ เพลง นำมาจัดรวมบรรเลงติดต่อกันไปเพลงทั้งหมดนี้รวมเรียกว่า "เพลงเรื่อง" และตั้งชื่อเรื่องต่าง ๆ กัน แล้วแต่กรณี อธิบาย : ในการตั้งชื่อเรื่องนี้โดยปกติตั้งตามชื่อของเพลงที่บรรเลงเป็น อันดับแรกหรือเพลงที่สำคัญในเรื่องนั้นเช่น จำพวกเพลงเรื่องมโหรีก็มีเรื่องพระนเรศวร ชนช้าง ซึ่งมีเพลงนเรศวรชนช้างเป็นเพลงแรก เรื่องเพลงยาวมีเพลงทะแยเป็น อันดับแรก แต่เพลงยาวเป็นเพลงสำคัญ ยาวถึง ๗ ท่อน ฯลฯ (เพลงเรื่องจำพวกมโหรีนี้ บางทีก็เรียกว่า "ตับ" ดูคำว่า ตับ) จำพวกเพลงช้าก็มีเรื่องเต่ากินผักบุ้ง เรื่องสารถี เป็นต้น จำพวกสองไม้ก็มีเรื่องสีนวล เรื่องทยอย เป็นต้น จำพวกเพลงเร็วก็มีเรื่องแขกมัดตีน หมู เรื่องแขกบรเทศ เป็นต้น และจำพวกเพลงฉิ่งก็มีเรื่องมุล่ง เรื่องช้างประสานงา เป็นต้น เหล่านี้เรียกตามชื่อเพลงอันดับแรกทั้งนั้น แต่บางเรื่องเรียกชื่อจริงตามกิจการที่ บรรเลงประกอบก็มี เช่น เรื่องทำขวัญ (หรือเวียนเทียน) ซึ่งเพลงอันดับแรกเป็นเพลง นางนาค ซึ่งใช้ในกรณีทำขวัญหรือเวียนเทียนสมโภช และบางเรื่องก็เรียกตามหน้าทับ (ดูคำว่า หน้าทับ) เช่น เรื่องนางหงส์ ซึ่งใช้ประโคมศพ เพลงที่บรรเลงขึ้นต้น ด้วยเพลงพราหมณ์เก็บหัวแหวน แต่กลองมลายูที่ตีประกอบจังหวะ ตีหน้าทับนางหงส์ ดังนี้เป็นต้น
ล้วง ได้แก่ การบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเพิ่มทำนองบรรเลงล้ำเข้ามา ก่อนที่จะถึงหน้าที่บรรเลงตามปรกติ อธิบาย : วิธีการอย่างนี้มักจะมีในตอนที่บรรเลงลูกล้อลูกขัดหรือเวลาที่จะ รับ จากร้อง คือก่อนที่จะถึงหน้าที่บรรเลงตามปรกติของตน ก็หาทำนองอย่างใด อย่างหนึ่ง บรรเลงขึ้นมาก่อนที่อีกฝ่ายหนึ่งจะจบ
ล่อน ได้แก่ การปฏิบัติในวิธีที่เรียกว่า สะบัด ขยี้ รัว หรือกวาด ได้ชัดเจนทุกเสียง ไม่ กล้อมแกล้มหรือกระทบเสียงอื่นที่ไม่ต้องการ เหมือนกับผลเงาะที่แกะเนื้อออกไม่มีติด เมล็ดเลย เราก็เรียกว่า "ล่อน"
ลำลอง เป็นการบรรเลงดนตรีไปพร้อม ๆ กับการร้องเพลง (เช่นเดียวกับคลอและเคล้า ดูคำว่า คลอและเคล้า) อีกแบบหนึ่งแต่วิธีการบรรเลงและร้องต่างก็ดำเนินไป โดยอิสระคือ ไม่ต้องเป็นเพลงเดียวกัน เสียงที่ตกจังหวะก็ไม่ต้องเป็นเสียงเดียวกันบางทีอาจไม่ถือ จังหวะของกันและกันก็ได้ สิ่งที่จะต้องยึดถือในการบรรเลงและร้องในลักษณะ ลำลองนี้ ก็คือ เสียงที่บรรเลงกับร้องจะต้องเป็นระดับเสียงเดียวกันทำนองของเพลงทั้ง ๒ ฝ่ายสัมพันธ์กลมกลืนกัน เช่น การร้องเพลง "เห่เชิดฉิ่ง" ในเพลงตับพรหมาสตร์ ซึ่งคนร้องร้องเป็นทำนองเห่ส่วนดนตรีบรรเลงเพลงเชิดฉิ่งไปพร้อม ๆ กัน
ลูกล้อ เป็นวิธีการบรรเลงทำนองอย่างหนึ่งที่แบ่งเครื่องดนตรี (หรือร้อง) ออกเป็น ๒ พวก พวกหนึ่งเรียกว่าพวกหน้า อีกพวกหนึ่งเรียกว่าพวกหลัง ทั้ง ๒ พวกนี้ ผลัดกันบรรเลง คนละที เมื่อพวกหน้าบรรเลงไปหมดวรรคตอนแล้ว พวกหลังจึงจะบรรเลงบ้าง (เช่น เดียวกับคำว่าลูกขัดที่กล่าวมแล้ว) แต่ที่จะเรียกได้ว่า "ลูกล้อ" นี้เมื่อพวกหน้าบรรเลง ไปเป็นทำนองอย่างใด พวกหลังก็จะบรรเลงเป็นทำนองซ้ำอย่างเดียวกันกับพวกหน้า และทำนองที่ผลัดกันบรรเลงนี้ ก็แล้วแต่ผู้แต่งจะประดิษฐ์ขึ้น จะสั้นยาวเท่าใดหรือ เพียงพยางค์เดียวก็ได้
ลูกขัด เป็นวิธีการบรรเลงทำนองอย่างหนึ่งที่แบ่งเครื่องดนตรี (หรือร้อง) ออกเป็น ๒ พวก พวกหนึ่งเรียกว่าพวกหน้า (บรรเลงก่อน) อีกพวกหนึ่งเรียกว่าพวกหลัง (บรรเลงที่หลัง) ทั้ง ๒ พวกนี้ผลัดกันบรรเลงคนละที เมื่อพวกหน้าบรรเลงไปหมดวรรคตอนแล้ว พวกหลังจึงจะบรรเลงบ้าง แต่ที่จะเรียกได้ว่า "ลูกขัด" นี้ เมื่อพวกหลังบรรเลงเป็น ทำนองอย่างหนึ่งแล้ว พวกหลังก็จะบรรเลงทำนองให้ผิดแผกแตกต่างไปอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่เหมือนกับทำนองของพวกหน้า ทำนองที่ผลัดกันบรรเลงนี้ไม่บังคับว่าจะสั้นยาว เท่าใด ทั้งนี้แล้วแต่ผู้แต่งจะประดิษฐ์ขึ้นอย่างสั้นที่สุดอาจผลัดกันทำเพียงพวกละ พยางค์เดียวก็ได้ อธิบาย : ถ้าจะเปรียบเทียบคำว่า "ลูกขัด" กับ "ลูกล้อ" ให้เข้าใจง่ายจงจำไว้ว่า ถ้าพวกหลังบรรเลงไม่เหมือนพวกหน้าก็เป็นลูกขัด หากพวกหลังบรรเลงเหมือนกับ พวกหน้าก็เป็นลูกล้อ เช่นเดียวกับคำพูดของคน ๒ คน คนแรกพูดอย่างหนึ่ง อีกคนพูด ไปเสียอีกอย่างหนึ่งไม่เหมือนกันก็เรียกว่าพูดขัดหรือขัดคอ ซึ่งตรงกับลูกขัด ถ้าคนแรก พูดอย่างใด อีกคนก็พูดเหมือนอย่างนั้น ก็เรียกว่าเลียน หรือ ล้อ หรือ ล้อเลียน ซึ่งตรงกับ ลูกล้อ
ลูกหมด เป็นชื่อเพลงประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นเพลงสั้น ๆ มีจังหวะเร็ว เทียบเท่ากับจังหวะ หน้าทับสองไม้ชั้นเดียวหรือครึ่งชั้น สำหรับบรรเลงต่อท้ายเพลงต่าง ๆ เพื่อแสดงว่า จบ (หมด)
ลูกบท ได้แก่เพลงเล็ก ๆ ที่บรรเลงต่อจากเพลงใหญ่ซึ่งถือว่าเป็น แม่บท เพลงเล็ก ๆ ที่เรียกว่า ลูกบทนี้ อาจเป็นเพลงในอัตรา ๓ ชั้น ชั้นเดียว ครึ่งชั้น หรือเพลงภาษาต่าง ๆ ก็ได้ อุทาหรณ์ : เมื่อร้องและบรรเลงเพลงจระเข้หางยาว ๓ ชั้น จบแล้ว จึงออก ลูกหมด แล้วร้องและบรรเลงเพลงจีนขิมเล็กต่อไป เสร็จแล้วก็ออกลูกหมดอีกครั้ง หนึ่งเพลงจีนขิมเล็กนี้แหละคือลูกบท ส่วนเพลงจระเข้หางยาวนี้บรรเลงแต่ต้นเป็นเพลง แม่บท ทั้งแม่บทและลูกบท เมื่อจะจบเพลงของตนต่างก็มี "ลูกหมด" ของตนเองเพื่อ แสดงว่าเพลงจบหรือ "หมดเพลง" แล้ว
ลำ ในสมัยโบราณใช้เรียกแทนคำว่าเพลง เช่น เพลงนางนาค เรียกว่า ลำนางนาค การละเล่นอย่างหนึ่งทางภาคอีสานที่ร้องเคล้าไปกับแคน เรียกว่า "ลำแคน" คนร้องเรียกว่า "หมอลำ" และคนเป่าแคนเรียกว่า "หมอแคน" ในสมัยปัจจุบัน มักจะแยกความหมายระหว่าง "เพลง" กับ "ลำ" เป็นคนละ อย่าง เพลงหมายถึงทำนองที่มีกำหนดความสั้นยาวแน่นอน (ดูคำว่า เพลง) แม้เพลง บางเพลงที่มีโยนซึ่งไม่จำกัดจำนวนจังหวะ แต่เมื่อถึงเนื้อเพลงก็มีทำนองอันแน่นอน หากจะมีบทร้องก็ต้องถือทำนองเพลงเป็นใหญ่ ส่วนลำนั้นถือถ้อยคำเป็นบทร้องเป็น สำคัญต้องน้อมทำนองเข้าหาถ้อยคำ และความสั้นยาวไม่มีกำหนดแน่นอน เช่น การขับ ลำของหมดลำ เป็นต้น
ส่ง แยกออกได้เป็น ๒ อย่าง
ก. เป็นการบรรเลงนำทางให้คนร้องที่จะร้องต่อไปได้สะดวกและถูกต้อง เหมือนกับผู้ที่จะพ้นตำแหน่งแล้ว ก็ต้องส่งหน้าที่และแนะนำให้ผู้ที่จะรับตำแหน่งต่อไปได้ทราบแนวทาง เพื่อประโยชน์และความเรียบร้อยของส่วนรวม การ บรรเลงนำให้คนร้องนี้ เรียกเต็ม ๆ ว่า "ส่งหางเสียง"
ข. การร้องที่มีดนตรีรับ ก็เรียกว่าส่งเหมือนกัน แต่ก็มักจะเรียกว่า "ร้องส่ง"
สวม ได้แก่ การบรรเลงซึ่งอาจเป็นเครื่องดนตรีทั้งวงหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงสิ่งเดียว ได้ บรรเลงเหลื่อมล้ำเข้ามาในตอนท้ายก่อนจบของผู้อื่นที่จะต้องบรรเลงติดต่อ เพื่อความ สนิทสนมกลมกลืนกัน อธิบาย : การบรรเลงเพลงสวมนี้ ที่ปฏิบัติกันเป็นปรกติก็คือเวลาร้องก่อนจะจบ ดนตรีก็บรรเลงสวมตอนท้ายเข้ามา หรือระหว่างเครื่องดนตรีที่บรรเลงเดี่ยวด้วยกัน เครื่องดนตรีที่จะบรรเลงต่อ ก็บรรเลงสวมตอนท้ายก่อนจะจบของเครื่องที่บรรเลงก่อน เช่นเดียวกับการต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็ต้องสวมหรือเข้าปากประกบเชื่อมกันให้สนิท
ไหว หมายถึง การบรรเลงให้เสียงดนตรีหลาย ๆ เสียงที่ติดต่อกันนั้น มีระยะถี่และในจังหวะ เร็ว หากทำได้ถี่และเร็วมาก ก็เรียกว่าไหวมาก
สวม ได้แก่ การบรรเลงซึ่งอาจเป็นเครื่องดนตรีทั้งวงหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงสิ่งเดียว ได้ บรรเลงเหลื่อมล้ำเข้ามาในตอนท้ายก่อนจบของผู้อื่นที่จะต้องบรรเลงติดต่อ เพื่อความ สนิทสนมกลมกลืนกัน อธิบาย : การบรรเลงเพลงสวมนี้ ที่ปฏิบัติกันเป็นปรกติก็คือเวลาร้องก่อนจะจบ ดนตรีก็บรรเลงสวมตอนท้ายเข้ามา หรือระหว่างเครื่องดนตรีที่บรรเลงเดี่ยวด้วยกัน เครื่องดนตรีที่จะบรรเลงต่อ ก็บรรเลงสวมตอนท้ายก่อนจะจบของเครื่องที่บรรเลงก่อน เช่นเดียวกับการต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็ต้องสวมหรือเข้าปากประกบเชื่อมกันให้สนิท
ไหว หมายถึง การบรรเลงให้เสียงดนตรีหลาย ๆ เสียงที่ติดต่อกันนั้น มีระยะถี่และในจังหวะ เร็ว หากทำได้ถี่และเร็วมาก ก็เรียกว่าไหวมาก
ออก คือ การบรรเลงที่เปลี่ยนจากเพลงหนึ่งไปอีกเพลงหนึ่ง เช่น บรรเลงเพลงช้าแล้วเปลี่ยน เป็นเพลงเร็ว ก็เรียกว่า ออกเพลงเร็ว เปลี่ยนจากเพลงธรรมดาไปเป็นเพลงลูกหมด ก็ เรียกว่า ออกลูกหมด
เอื้อน ๑. ใช้ในการขับร้อง : หมายถึง การร้องเป็นทำนองโดยใช้เสียงเปล่า ไม่มีถ้อยคำเสียงที่ ร้องเอื้อนนี้อนุโลมคล้ายสระเออ ประโยชน์ของเอื้อน สำหรับบรรจุทำนองเพลงให้ถูกต้องครบถ้วนในเมื่อ บทร้อง (ถ้อยคำ) ไม่พอกับทำนองเพลง และเพื่อตบแต่งให้ถ้อยคำนั้นชัดเจนยิ่งขึ้น
๒. ใช้ในการบรรเลงดนตรี : หมายถึง การทำเสียงให้เลื่อนไหลติดต่อกัน โดยสนิทสนม จะเป็นจากเสียงสูงมาหาเสียงต่ำ หรือเสียงต่ำไปหาเสียงสูงหรือเป็นเสียงสลับกันอย่างไร ก็ได้
โอด ก. เป็นชื่อเพลงดนตรีเพลงหนึ่ง สำหรับใช้เป็นหน้าพาทย์บรรเลงประกอบกิริยาร้องไห้ หรือสลบ หรือตาย ค. เป็นชื่อของเสียงที่ใช้ในวงปี่พาทย์เสียงหนึ่ง ซึ่งเทียบโดยอนุโลมกับเสียงของดนตรี ง. สากลตรงกับเสียง ลา ถ้าตีด้วยฆ้องวงใหญ่ก็จะได้แก่ลูกที่ ๑๒ (นับจากลูกที่มีเสียงต่ำสุด) และฆ้องลูกนี้ก็มีชื่อว่า "ลูกโอด" เพราะเสียงนี้เป็นหลักสำคัญของเพลง โอด (ข้อ ก.) ค. หมายถึงทาง (ดูคำว่า ทาง ข้อ ๒) ดำเนินทำนองเพลงอย่างหนึ่ง ซึ่งดำเนินไปโดย แช่มช้า โหยหวน อ่อนหวาน หรือโศกซึ้ง บางท่านก็ว่าเป็นการดำเนินทำนองในระดับ เสียงสูง
โอดพัน เป็นคำเรียกวิธีบรรเลงดนตรีอย่างหนึ่ง ซึ่งมีทั้งทางโอด (ดูคำว่า โอด ข้อ ค.) และทางพัน (ดูคำว่า พัน ข้อ ข.) คือ การบรรเลงนั้นมีทั้งโหยหวน อ่อนหวานและเก็บแทรกแซง เสียงให้ถี่ ๆ อาจสลับกันเป็นอย่างละตอนหรืออย่างละเที่ยวก็ได้ อีกนัยหนึ่ง เป็นการบรรเลงทำนองเดียวกัน แต่บรรเลงในระดับเสียงสูง เที่ยวหนึ่ง ระดับเสียงต่ำเที่ยวหนึ่ง