ค้นหาบล็อกนี้
วันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2553
วันเสาร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2553
รู้จักฟลุท
เรื่องราวของฟลุทที่เรียบเรียงโดย ครูมด สามารถฝึกฝนได้จากการอ่านและสามารถขอเสียงในการฟังได้จากเวปของครูมดนะคะ http://www.facebook.com/photo.php?fbid=1681543074188&set=a.1519583265294.70526.1105915630
วันอาทิตย์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2553
ตัวอย่างโครงงาน แบบที่ 2
ตัวอย่างโครงงานภาษาไทย
เรื่อง สำรวจรวบรวมคำที่มักเขียนผิดในภาษาไทย
ที่มาและความสำคัญของโครงงาน
การเขียนคำภาษาไทยให้ถูกต้องตรงตามแบบแผนนั้น นับเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง การเขียนคำภาษาไทยได้ถูกต้องเป็นการแสดงถึงความเข้าใจ และให้ความสำคัญอย่างลึกซึ้งกับภาษาซึ่งเป็นมรดกล้ำค่าของไทยแต่โบราณมา ทว่าในปัจจุบัน การเขียนภาษาไทยเป็นไปอย่างกว้างขวางทั่วถึง อีกทั้งภาษาไทยเป็นภาษาที่งดงามซับซ้อน มีตัวพยัญชนะถึง 44 ตัว มีคำพ้องรูป พ้องเสียงมากมาย จึงทำให้เกิดความสับสน ในการสะกดคำบางคำ นานวันเข้าจึงมีคำที่มักเขียนผิดมากมาย ผู้จัดทำเห็นความจำเป็นที่ควรจะรวบรวมคำที่มักเข่ยนผิดในภาษาไทย ซึ่งมักจะเป็นคำที่คุ้นเคยในการฟังและพูด แต่มักไม่ค่อยเขียน เมื่อต้องเขียนจึงเขียนผิด การรวบรวมคำที่มักเขียนผิด พร้อมทั้งค้นหาความหมายนั้นได้จัดเรียงลำดับตัวอักษรเพื่อให้ง่ายต่อการศึกษา และเกิดประโยชน์มากที่สุด
วัตถุประสงค์
1. เพื่อรวบรวมคำที่มักเขียนผิดในภาษาไทย ค้นคว้าแก้ไขให้ถูกต้องแล้วเรียบเรียงใหม่ตามลำดับตัวอักษรตั้งแต่ ก-ฮ
2. เพื่อค้นหาความหมายของคำที่ได้แก้ไขให้ถูกต้องแล้วนั้นมาแสดงไว้ให้ง่ายต่อการค้นคว้า
3. เพื่อให้การเขียนคำในภาษาไทยเป็นไปอย่างถูกต้องตามแบบพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นมาตรฐานในการเขียนคำภาษาไทย
ขอบเขตของการศึกษาค้นคว้า
รวบรวมคำที่มักเขียนผิด เรียบเรียงใหม่ตามลำดับตัวอักษรและค้นหาความหมายของคำนั้น ๆ ตามลำดับตัวอักษร ก-ฮ
วิธีการดำเนินการ
1. ศึกษาจากหนังสือรวบรวมคำที่มักเขียนผิด อ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ของราชบัณฑิตยสถาน (แก้ไขเพิ่มเติม) ซึ่งได้รวบรวมไว้เบื้องต้นแล้วส่วนหนึ่ง
2. รวบรวมคำที่เป็นศัพท์ยากจากหนังสือเรียนภาษาไทย ท 503 ชุดวรรณสารวิจักษณ์ เล่ม 3
3. ค้นหาความหมายจากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 พร้อมกับเรียบเรียงตามลำดับตัวอักษร
4. นำเสนอในรูปแบบตาราง
ผลการศึกษา
ตารางแสดงคำที่มักเขียนผิด
คำที่มักเขียนผิด | คำที่เขียนถูกต้อง | ความหมาย |
กงศุล | กงสุล | พนักงานผู้มีหน้าที่ดูแลผลประโยชน์ในต่างประเทศ |
กฏ | กฎ | ข้อบังคับ |
กบฎ | กบฏ | ประทุษร้ายต่อประเทศ |
กันเชียง | กรรเชียง | เครื่องพุ้ยน้ำให้เรือเดิน รูปคล้ายแจว |
กันโชก | กรรโชก | ขู่เอาด้วยกิริยาหรือวาจาให้กลัว |
กันไตร | กรรไตร | เครื่องมือสำหรับใช้หนีบ มี 2 ขา เขียนเป็นกรรไกร หรือ ตระไกรก็มี |
กรรมพันธ์ | กรรมพันธุ์ | ลักษณะนิสัย โรคบางชนิดที่สืบทอดทางสายเลือด |
กรรมสิทธิ | กรรมสิทธิ์ | ความเป็นเจ้าของทรัพย์ |
กล่อน | กร่อน | สึกหรอ |
ขรุกขริก | ขลุกขลิก | เต๋าเขย่า (การพนัน) , แกงเผ็ดที่มีน้ำน้อย |
ขมักเขม้น , ขะมักขะเม่น | ขะมักเขม้น | ตั้งใจทำอย่างรีบเร่งเพื่อให้แล้วเสร็จไป |
ขมุกขมอม | ขะมุกขะมอม | เปรอะเปื้อนมอซอ |
ขันทสกร | ขัณฑสกร | น้ำตางกรวด |
ขัดสมาส | ขัดสมาธิ | นั่งเอาขาสองข้างขัดกันไขว้กัน |
ขันเชนาะ | ขันชะเนาะ | บิดลูกชะเนาะให้ตึง |
ขาดดุลย์ | ขาดดุล | บกพร่อง |
คึ่นช่าย | ขึ้นฉ่าย | ชื่อไม้ล้มลุกชนิดหนึ่ง ใบคล้ายผักชีแต่โตกว่า |
เข็นใจ | เข็ญใจ | ยากจนข้นแค้น |
ขเม็ดแขม่ | เขม็ดแขม่ | ประหยัด |
ขเยก , ขะเหยก | เขยก | อาการที่เดินหรือวิ่งด้วยปลายเท้าอย่างคนเท้าเจ็บ |
ขะเหยิน | เขยิน | ยื่นออกมา |
เข้าฌาณ | เข้าฌาน | ทำใจให้สงบตามหลักพระพุทธศาสนา |
เข้ารีด | เข้ารีต | เปลี่ยนไปถือศาสนาอื่น |
ไข่มุกข์ , ไข่มุกด์ , ไข่มุข | ไข่มุก | วัตถุมีค่า มีลักษณะกลม ๆ เกิดจากหอยบางชนิด |
คณณา | คณนา | นับ |
คณโฑ | คนโท | หม้อน้ำรูปต่าง ๆ คอยาว |
เครื่องยนตร์ | เครื่องยนต์ | เครื่องจักรที่ทำให้เกิดพลังงาน |
เครื่องลาง | เครื่องราง | เช่น ตะกรุด ผ้ายันต์ |
เครื่องสำอางค์ | เครื่องสำอาง | สิ่งเสริมแต่งหรือบำรุงให้ดูงาม |
เคหะสงเคราะห์ | เคหสงเคราะห์ | องค์การสงเคราะห์ด้านที่อยู่อาศัย |
เคี่ยวเข็น | เคี่ยวเข็ญ | บีบบังคับ |
โครงการณ์ | โครงการ | แผนหรือเค้าโครง |
โควต้า | โควตา | การจำกัดจำนวนโดยวางกฎเกณท์ไว้ |
งบดุลย์ | งบดุล | บัญชีแสดงรายการแตกต่างระหว่างทรัพย์สินกับหนี้สิน |
งูสวัสดิ์ | งูสวัด | โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง |
โง่เหง้า | โง่เง่า | โง่มาก |
จรเข้ | จระเข้ | สัตว์เลื้อยคลานขนาดใหญ่ |
จาละเม็ด | จะละเม็ด | ชื่อปลาทะเล รูปร่างป้อมสั้น ลำตัวแบนข้างมาก |
จักรพรรดิ์ | จักรพรรดิ | พระราชาธิราช |
จันทาล , จันฑาล | จัณฑาล | ต่ำช้า |
จตุรัส | จัตุรัส | สี่เหลี่ยมด้านเท่าเป็นมุมฉาก |
ต้นจันทร์ | ต้นจันทน์ | ชื่อพรรณไม้บางชนิดที่มีเนื้อไม้ดอกหรือผลหอม |
ตลบแตลง | ตลบตะแลง | พลิกแพลงด้วยเล่ห์เหลี่ยมให้หลงเชื่อ |
ตะกรุมตะกลาม | ตะกรุมตะกราม | กิริยาที่ทำไปอย่างขาดการพินิจพิจารณาเนื่องในการบริโภค ผลีผลาม |
- | ตะเข้ | จระเข้; ตัวไม้จากกลางจั่งบ้านมายังชายคา |
ตะเข้ | ตะเฆ่ | เครื่องลากเข็นของหนัก รูปเตี้ย ๆ มีล้อ |
ตาราง | ตะราง | ที่คุมขังนักโทษ |
ตล่อม | ตะล่อม | ทำให้รวมกันเข้ามาเป็นกอง ; อัตราตวงของโบราณ |
ต่าง ๆ นา ๆ | ต่าง ๆ นานา | หลายอย่าง หลายชนิด |
ตานขะโมย | ตานขโมย | ชื่อโรคพยาธิลำไส้อย่างหนึ่ง |
ตาลตะโหนด | ตาลโตนด | ชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง ใบใหญ่ |
ตาละปัตร | ตาลปัตร | พัดใบตาลมีด้ามยาว สำหรับพระใช้ในพิธีกรรม |
ตำหรับตำรา | ตำรับตำรา | ตำราที่กำหนดไว้เฉพาะเรื่อง |
เต๊นท์ | เต็นท์ | ที่พักย้ายได้ ทำจากผ้าใบ |
ถนนราดยาง | ถนนลาดยาง | ถนนลาดยางมะตอย |
ถนัดถะหนี่ | ถนัดถนี่ | ถนัดชัดเจน |
ถั่วพลู | ถั่วพู | ถั่วชนิดหนึ่ง |
ทะโมน | ทโมน | ใหญ่และมีกำลังมาก |
ทะยอย | ทยอย | หย่อย ๆ กันไปไม่ขาดระยะ |
ทะแยง | ทแยง | เฉลียง , เฉียง |
ทรนง | ทระนง | ทะนง , หยิ่ง |
ทรัพย์สิทธิ์ | ทรัพย์สิทธิ | สิทธิเหนือทรัพย์นั้น ๆ |
ทนง | ทะนง | ถือตัว หยิ่ง |
ทนุบำรุง | ทะนุบำรุง | เอาใจใส่ดูแล เลี้ยงดู |
ทลวง | ทะลวง | ทำให้เป็นช่องกลวงเข้าไป |
ทลึ่ง | ทะลึ่ง | แสดงกิริยาหรือวาจาอันไม่สมควรในเรื่องที่ไม่ใช่ธุระของตัวเอง |
ทะเลสาป | ทะเลสาบ | ห้วงน้ำใหญ่ที่มีลักษณะเนื้อที่กว้างใหญ่ |
ทัศนะศิลป์ | ทัศนศิลป์ | ศิลป์จากการเห็น |
เทอดพระเกียรติ | เทิดพระเกียรติ | ยกย่องพระเกียรติไว้เป็นที่เคารพ |
แท๊กซี่ | แท็กซี่ | รถยนต์รับจ้างสาธารณะ |
ธัญญพืช | ธัญพืช | พืชข้าวกล้า |
ธำมรง | ธำมรงค์ | แหวน |
ธำรงค์ | ธำรง | ชูไว้ ทรงไว้ |
ธุดง | ธุดงค์ | องค์คุณเครื่องกำจัดกิเลส |
ธุระการ | ธุรการ | การจัดกิจการงานโดยส่วนรวมของแต่ละหน่วย |
ธุระกิจ | ธุรกิจ | การงานประจำเกี่ยวกับอาชีพค้าขาย |
ผลและการวิจารณ์ผล
1. โครงงานนี้มีการรวบรวมคำไว้มากกว่า 70 คำ
2. มีการนำเสนอในรูปแบบตาราง อ่านง่าย
สรุปผลการศึกษา
คำในภาษาไทยที่มักเขียนผิดนั้น โดยส่วนใหญ่ที่ผิดนั้นก็คือ เกิดจากการที่คำนั้น ๆ มีคำพ้องเสียงหลายคำ แต่สะกดคำต่างกันจึงทำให้ใช้ผิด อีกทั้งเป็นเพราะคำไทยมีตัวพยัญชนะถึง 44 ตัว มีบางตัวที่ออกเสียงเดียวกัน ทำให้เกิดการใช้ผิดกัน
เอกสารอ้างอิง
ราชบัณฑิตยสถาน. อ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน
(แก้ไขเพิ่มเติม) พิมพ์ครั้งที่ 14. กรุงเทพฯ : คอมฟอร์ม,2540
พจนานุกรม ฉบับเฉลิมพระเกียรติ พ.ศ. 2530.
ตัวอย่างโครงงาน แบบที่ 1
ตัวอย่างโครงงานภาษาไทย
เรื่อง สำนวนภาษา คำพังเพยในท้องถิ่น
ที่มาและความสำคัญของโครงงาน
ภาษาไทยในแต่ละท้องถิ่น มีภาษาซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของตนเอง อาจจะแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม ประเพณี อิทธิพล จากประเทศเพื่อนบ้าน ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศและความเป็นอยู่ในท้องถิ่นนั้น ๆ ดังนั้น สำนวนภาษา และคำพังเพยที่ใช้จึงมีภาษาพูดที่แตกต่างกันออกไป แต่ความหมายยังคล้ายคลึงกัน เช่นเดียวกับสำนวนภาษา และคำพังเพยที่แตกต่างกันออกไป
จึงได้ทำโครงงานการศึกษา สำนวนภาษาและคำพังเพยในท้องถิ่นของจังหวัดตรังขึ้น
วัตถุประสงค์
1. เพื่อรวบรวมสำนวนภาษา และคำพังเพยที่มีในท้องถิ่น
2. เพื่อหาความหมายของสำนวนภาษาและคำพังเพย
3. เพื่อเผยแพร่ให้ความรู้แก่บุคคลทั่วไปนำไปใช้ให้ถูกต้อง
สมมุติฐานของการศึกษาค้นคว้า
สำนวนภาษา และคำพังเพยแต่ละท้องถิ่นแตกต่างกัน
ขอบเขตของการศึกษาค้นคว้า
1. สถานที่สำรวจในพื้นที่จังหวัดตรัง
2. ระยะเวลาศึกษาตั้งแต่ 26 กุมภาพันธ์ - 15 มีนาคม 2543
อุปกรณ์และวัสดุที่ใช้ในการศึกษา
1. หนังสืออ่านนอกเวลา ป. 5
2. พจนานุกรม ปทานุกรม
3. เครื่องเขียน
วิธีการศึกษา
1. สอบถาม สัมภาษณ์ จากครู ผู้ปกครอง และบุคคลแหล่งชุมชนในท้องถิ่น
2. ศึกษาค้นคว้าจากห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดประชาชน
3. สังเกตจากการเข้าร่วมกิจกรรมในชุมชน
4. สร้างเครื่องมือ แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์
5. รวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล บันทึกผล
วิธีบันทึก
1. บันทึกภาพ
2. จดบันทึก
3. แบบสอบถาม
สรุปผลการศึกษา
ในการศึกษาสำนวนภาษา และคำพังเพยที่ใช้ในท้องถิ่น จังหวัดตรัง ได้ข้อมูลทั้งสิ้น 23 สำนวน ดังนี้
1. หูทวนลม หมายความว่า พูดไม่ฟัง
2. หยาบเหมือนขี้ช้าง หมายความว่า ไม่เรียบร้อย
3. ขี้คร้านหลังยาว หมายความว่า เป็นคนขี้เกียจ
4. สีซอให้ควายฟัง หมายความว่า ฟังแต่ไม่รับรู้
5. สู้หลังชนฝา หมายความว่า สู้ไม่ถอย
6. กินข้าวสองมือ หมายความว่า เป็นคนสุขสบาย
7. ลิงหลอกเจ้า หมายความว่า ต่อหน้าทำดีลับหลังนินทา
8. ต้มสิบน้ำไม่เปื่อย หมายความว่า เป็นคนเฉื่อยชา ไปเรื่อย ๆ
9. เณรเกตุ หมายความว่า เที่ยวไม่รู้หัวนอนปลายเท้า
10. แมวงอกเขาเต่างอกขา หมายความว่า เรื่องที่เป็นไปไม่ได้
11. จับปูใส่ด้ง หมายความว่า อยู่ไม่นิ่ง
12. จับน้ำใส่โหลก โงกแลเงา หมายความว่า ให้เจียมตัว
13. ใหญ่พร้าว เฒ่าลอกอ หมายความว่า โตแต่ตัว
14. อยู่จนพร้าวเรียว หมายความว่า แต่งงานอยู่กินกันมานาน
15. ไม่เข้าเค้า หมายความว่า ไม่ได้เรื่อง
16. ไม่สาเกลือ หมายความว่า ไม่น่านับถือ
17. ไม่สาไหร หมายความว่า ไม่ได้เรื่อง
18. ดำเหมือนกล้วยหมกลืม หมายความว่า เปรียบเทียบคนผิวดำ
19. ดำเหมือนตอเคี่ยม หมายความว่า เปรียบเทียบคนผิวดำ
20. นอนหวันแยงวาน หมายความว่า นอนตื่นสาย
21. นอนหวันแยงตา หมายความว่า นอนกลางวันจนค่ำ
แล้วยังไม่ตื่น
22. ทำงานหลาวหลาว หมายความว่า ทำงานขาดความรอบคอบ
23. รวยหยังหยัง หมายความว่า ร่ำรวยมาก
อภิปรายผลการศึกษา
สำนวนภาษา คำพังเพย ที่ไปสำรวจได้ ถ้าพูดด้วยภาษถิ่นทางใต้ด้วยแล้ว บางครั้งคนฟังที่เป็นคนต่างถิ่น จะไม่รู้เรื่องเลยแม้แต่น้อย แต่ถ้าใช้ภาษากลางพูด บางสำนวนฟังแล้วรู้เรื่อง เช่น สำนวนว่า "นอนหวันแยงวาน" หวัน หมายถึง ตะวัน แสงอาทิตย์ แยง หมายถึง ทิ่ม แทง วาน หมายถึง ทวาร ซึ่งคนมทางใต้นิยมพูดสั้น ๆ เอาพยางค์สุดท้ายของคำมาพูด อย่างไรก็ตาม ภาษาถิ่นแต่ละแห่งย่อมแตกต่างกันไป ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก
สรุปผลการศึกษา
1. ได้สำนวนภาษา คำพังเพย จำนวน 23 สำนวน
2. ได้ทราบความหมายของสำนวนทั้ง 23 สำนวน
ประโยชน์ที่ได้รับ
1. ได้ทราบภาษาถิ่นที่เป็นสำนวนภาษา และคำพังเพย
2. ได้ทราบความแตกต่างของภาษาถิ่นและภาษากลาง บางคำมาจากรากศัพท์เดียวกัน
3. ภูมิใจในวัฒนธรรมของท้องถิ่น ภาษาของชาวบ้านที่สรรหาคำมาเปรียบเปรย
ข้อเสนอแนะ
1. ทำโครงงานเรื่องนี้ต่อ โดยเก็บรวบรวมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
2. จัดรวบรวม จำแนก จัดหมวดหมู่ให้เป็นระบบ
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)